EXIM BANK จับมือเวฟ บีซีจี ผลักดันผู้ประกอบการและเกษตรกรไทยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และนายเจมส์ แอนดริว มอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวฟ บีซีจี จำกัด ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อสนับสนุนให้องค์กรต่าง ๆ รวมทั้งภาคธุรกิจของไทย บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยใช้กลไกใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificates : RECs) และคาร์บอนเครดิต รวมทั้งส่งเสริมการใช้ทรัพยากรร่วมกันและแบ่งปันความรู้ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับองค์กร ประเทศชาติ และโลกโดยรวม ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567
ความร่วมมือระหว่าง EXIM BANK และบริษัท เวฟ บีซีจี จำกัดในครั้งนี้สอดคล้องกับเป้าหมาย EXIM BANK สู่การเป็น Green Development Bank โดยตอบสนองนโยบายรัฐบาลและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ขณะที่เวฟ บีซีจี เป็นผู้ให้บริการจัดหาและซื้อขาย RECs ครบวงจรอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย มีความสามารถในการจัดหา RECs จากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจำนวน 8,000,000 RECs ต่อปี และตั้งเป้าหมายเพิ่ม RECs ใน Portfolio เป็น 15,000,000 RECs ต่อปี เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยบรรลุเป้าหมายในการลดหรือชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานและมีขีดความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลกเพิ่มมากขึ้น โดยบริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีด้าน Climate Technologies สำหรับโครงการปลูกข้าวนาเปียกสลับแห้ง (Alternative Wetting and Drying : AWD) ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการปลูกข้าวได้ถึง 45% โดยการบริหารจัดการความสมดุลของปริมาณน้ำในนาข้าว ลดการใช้น้ำ และเพิ่มผลผลิต เป็นโอกาสในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมพื้นฐานของประเทศไทยอย่างยั่งยืน
นายเจมส์ กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการทั่วโลกได้รับการกดดันจากปัญหาโลกร้อน ให้ต้องปรับตัวเพื่อเป็นทางรอด ไม่ใช่ทางเลือก ความร่วมมือระหว่างเวฟ บีซีจี กับ EXIM BANK ในครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ยังอยู่ในระดับสูงใน 2 อุตสาหกรรมหลักของไทย ได้แก่ พลังงาน และเกษตร โดยเวฟ บีซีจี ร่วมกับ EXIM BANK จะเดินหน้าผลักดันให้ผู้ประกอบการ รวมทั้งเกษตรกรไทย หันมาใช้ RECs เป็นกลไกในการเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย โครงการนำร่องได้แก่ การปลูกข้าวนาเปียกสลับแห้งเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกสินค้าเกษตรและสร้างความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืนให้แก่ภาคเกษตรของไทย
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นหนึ่งในโครงการบุกเบิกที่ EXIM BANK จับมือกับเวฟ บีซีจี เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมให้เกิดการซื้อขายคาร์บอนเครดิต กระตุ้นให้เกิดความตระหนักรู้และลงมือทำจริงในการสร้างระบบนิเวศคาร์บอนต่ำ ตั้งแต่ต้นน้ำในภาคเกษตรกรรมและจนถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง กล่าวได้ว่า ทำให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจก อาทิ ก๊าซมีเทน ตั้งแต่แปลงนาข้าว ไปจนถึงการส่งเสริมให้มีผู้รับซื้อข้าวที่มีก๊าซมีเทนต่ำ ในอนาคต EXIM BANK จะขยายความร่วมมือกับพันธมิตรอื่น ๆ ต่อไปเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนตลอด Supply Chain การส่งออกตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ EXIM BANK ตั้งเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2573 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี 2593 เร็วกว่าเป้าหมายประเทศไทย 20 ปีและ 15 ปีตามลำดับ โดยธนาคารมีเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนให้เป็น 50% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมดภายในปี 2571 ขณะเดียวกัน เวฟ บีซีจี ตั้งเป้าหมายที่จะส่งเสริมการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยและประชาคมโลก โดยใช้ RECs เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญสำหรับส่งเสริมให้เกิดการผลิตและการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมในรูปแบบของการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร ทำให้ทุกภาคส่วน รวมถึงคนตัวเล็กในสังคม สามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดได้ และมีส่วนร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำไปด้วยกัน
#bidennews #หมาป่าแห่งวอลสตรีท