ก.ล.ต. นับหนึ่งแบบไฟลิ่ง BVG จ่อเสนอขายหุ้นสามัญไม่เกิน 157.50 ล้านหุ้น เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ
‘บมจ.บูลเวนเจอร์ กรุ๊ป’ หรือ BVG โชว์ศักยภาพการดำเนินธุรกิจในการเป็นหนึ่งในผู้นำการให้บริการแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันที่เกี่ยวเนื่องในธุรกิจประกันภัยรถยนต์และประกันสุขภาพ ผ่านการขับเคลื่อนนวัตกรรมเทคโนโลยี AI เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน ยกระดับมาตรฐานการให้บริการตลอดห่วงโซ่คุณค่า พลิกโฉมสร้างการเปลี่ยนแปลงแก่อุตสาหกรรมประกัน (Industry Game Changer) และขยายขอบเขตการให้บริการไปในภูมิภาคอาเซียน พร้อมเดินหน้าเข้าตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ หลังสำนักงาน ก.ล.ต. นับหนึ่งไฟลิ่งแล้ว
นางนวรัตน์ วงศ์ฐิติรัตน์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูเวนเจอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ) หรือ BVG เปิดเผยว่า บริษัทฯ เป็นผู้บุกเบิกและถือเป็นหนึ่งในผู้นำการประกอบธุรกิจให้บริการระบบแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน สำหรับบริหารจัดการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับประกันภัยรถยนต์ โดยมีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาและให้บริการระบบบริหารจัดการสำหรับธุรกิจประกันวินาศภัยและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ด้วยการใช้ฐานข้อมูล (Big Data) มาพัฒนาระบบการให้บริการตลอดห่วงโซ่คุณค่าด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี เพื่อให้บริการระบบแพลตฟอร์มกลางในการจัดการธุรกิจให้แก่อุตสาหกรรมประกันภัย ช่วยยกระดับมาตรฐานกระบวนการทำงานของธุรกิจประกันภัยรถยนต์และธุรกิจประกันสุขภาพ ก้าวสู่การเป็น InsurTech เต็มรูปแบบ ซึ่งจะสร้างประโยชน์แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายตลอดห่วงโซ่คุณค่า และมอบประสบการณ์การให้บริการที่เข้าใจและเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ BVG มุ่งขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้วิสัยทัศน์ “สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับประสบการณ์ในการใช้บริการและตอบโจทย์พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภคที่ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา” โดยนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับให้เข้ากับรูปแบบการบริการ เพื่อยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์และการให้บริการแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันหรับการบริหารจัดการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการประกันภัยรถยนต์ (ระบบ EMCS) ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี Artificial Intelligence (AI) มาใช้วิเคราะห์ข้อมูลและประมวลผล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการค่าสินไหมทดแทนรถยนต์ตลอดห่วงโซ่คุณค่าของการดำเนินธุรกิจประกัน ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอน ระยะเวลา และต้นทุนการจัดการค่าสินไหมทดแทนให้แก่ลูกค้าของบริษัทฯ ตั้งแต่กระบวนการรับแจ้งการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ การจัดส่งเจ้าหน้าที่สำรวจภัยไปยังที่เกิดเหตุและการแจ้งเคลมแบบ Online (m-survey) และการพิจารณาค่าสินไหมทดแทนในกระบวนการจัดซ่อม (e-claim) การจัดซื้ออะไหล่ (e-Part) และระบบเสริมอื่นๆ เช่น ระบบสำหรับรถยก (e-towing) ระบบการจัดการประมูลซากรถยนต์ (e-Auction) ระบบบริหารงานภายในอู่ซ่อมและให้บริการลูกค้าเงินสด (e-Garage) ซึ่งเป็นการพลิกโฉมการให้บริการเคลมประกันภัยรถยนต์ และสร้างโอกาสการเติบโตแก่บริษัทฯ ในอนาคต
ปัจจุบัน บริษัทฯ ได้รับความไว้วางใจใช้บริการระบบ EMCS จากบริษัทประกันภัย ที่มีการรับประกันภัยรถยนต์ 34 บริษัท จากบริษัทประกันภัยที่มีการรับประกันภัยรถยนต์ทั้งหมดจำนวน 39 บริษัท โดยปี 2564 บริษัทประกันภัยที่ใช้ระบบ EMCS มีกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจจำนวน 10.7 ล้านกรมธรรม์ จากทั้งหมด 11.0 ล้านกรมธรรม์ (คิดเป็น 97% ของจำนวนกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ) ทั้งนี้ ในปี 2564 ลูกค้าของบริษัทฯ มีมากกว่า 3,700 ราย ได้แก่ บริษัทประกันภัย ศูนย์บริการมาตรฐาน อู่ซ่อม ร้านเปลี่ยนกระจกรถยนต์ ร้านอะไหล่ บริษัทสำรวจภัย บริษัทรถยก บริษัทประมูลซากรถ เป็นต้น โดยมีปริมาณเคลมที่บริหารจัดการผ่านระบบดังกล่าวปีละกว่า 1.5 ล้านเคลม
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บลูเวนเจอร์ กรุ๊ป กล่าวว่า บริษัทฯ ยังให้บริการสนับสนุนการปฏิบัติงานแก่ธุรกิจประกันภัย ผ่านการดำเนินงานของ 3 บริษัทย่อย ได้แก่ บริษัท บลูเวนเจอร์ ทีพีเอ ที่มีความเชี่ยวชาญและเป็นหนึ่งในผู้นำการให้บริการบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลและสินไหมทดแทนผ่านแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน เพื่อให้บริการแก่บริษัทประกันที่มีรับประกันภัยสุขภาพ และบริหารจัดการสวัสดิการรักษาพยาบาลให้แก่บริษัทเอกชนชั้นนำของประเทศไทยที่มีการจัดการสวัสดิการพนักงานเอง โดยมีสถานพยาบาลภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงคลินิกทั่วประเทศในเครือข่ายมากกว่า 500 แห่ง สามารถใช้ระบบตรวจสอบสิทธิความคุ้มครองของผู้เอาประกันภัยและพนักงานขององค์กรทั่วไปที่บริหารจัดการสวัสดิการพนักงานด้วยตนเอง รวมกันกว่า 8.8 ล้านคน นอกจากนี้ ยังให้บริการคำปรึกษาด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยโดย บริษัท บลูเวนเจอร์ แอคชัวเรียล จำกัด และให้บริการนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศใหม่ๆ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานแก่องค์กร โดย บริษัท บลูเวนเจอร์ เทค จำกัด
ทั้งนี้ บริษัทฯ มีเป้าหมายรักษาความเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจ โดยการออกแบบนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านประกันภัย (InsurTech) เพื่อขยายเครือข่ายการให้บริการจัดการสินไหมได้ตลอดห่วงโซ่คุณค่าในกลุ่มธุรกิจการให้บริการระบบแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันสำหรับบริหารจัดการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับประกันภัยรถยนต์ และมุ่งให้บริการแบบ One Stop Service ด้านการจัดการสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลและสินไหมทดแทนแก่ผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันสำหรับการบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลและสินไหมทดแทนในกลุ่มธุรกิจประกันสุขภาพ นอกจากนี้จะนำเทคโนโลยี AI ต่อยอดสร้างสรรค์นวัตกรรมการให้บริการ เพื่อตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปและมอบประสบการณ์การให้บริการที่ดีแก่ผู้เอาประกัน พร้อมมุ่งขยายธุรกิจการให้บริการไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน
“เราพร้อมเป็น Industry Game Changer ให้แก่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจประกันภัยรถยนต์และธุรกิจประกันสุขภาพ จากการสร้างสรรค์นวัตกรรมเทคโนโลยีแพลตฟอร์มโซลูชั่นและแอปพลิเคชัน เพื่อยกระดับการให้บริการตลอดห่วงโซ่คุณค่าแก่ลูกค้าในภาคธุรกิจ สร้างประสบการณ์การใช้บริการที่ดีและความพึงพอใจสูงสุดแก่ลูกค้าและผู้บริโภค” นางนวรัตน์ กล่าว
นางสาวพัชพร สรรคบุรานุรักษ์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า หลังจาก บมจ.บลูเวนเจอร์ กรุ๊ป ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) เพื่อออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 90 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดยบริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) จำนวนไม่เกิน 67.50 ล้านหุ้น รวมทั้งสิ้น 157.50 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนรวมไม่เกินร้อยละ 35 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ ล่าสุด สำนักงาน ก.ล.ต.ได้นับ 1 แบบไฟลิ่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ บริษัทฯ มีแผนนำเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ไปใช้พัฒนาระบบ AI และระบบสารสนเทศเพื่อต่อยอดธุรกิจ รองรับแผนขยายธุรกิจไปยังกลุ่มประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน ส่วนที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ
#bidennews #หมาป่าแห่งวอลสตรีท