L&E เดินหน้าขยายตลาด เผยมีงานที่ติดตามมูลค่า 4,000 – 5,000 ลบ. เข้าเติม Backlog ปัจจุบันอยู่ที่ 1,300 ลบ.
L&E คาดครึ่งปีหลังสัญญาณดีกว่าครึ่งแรก จากปริมาณงานที่ทยอยออกมายังมีอีกมาก และมีงานที่ติดตามอยู่ค่อนข้างสูง มูลค่า 4,000-5,000 ล้านบาท เข้ามาเติมแบ็กล็อกเพิ่มจากปัจจุบันอยู่ที่ 1,300 ล้านบาท ทยอยรับรู้ต่อเนื่องปีนี้ ขณะที่ผลงานไตรมาส 2/66 ยอดขายได้รับผลกระทบจากโควิดยังไม่หมด งานโครงการใหญ่ๆ ชะลอการรับสินค้า มีผลทำให้ต้องเลื่อนการรับรู้รายได้ออกไปในไตรมาสถัดไป อีกทั้ง สาเหตุใหญ่จากรายได้จากการขายสินค้าในตลาดประเทศสหรัฐอเมริกาลดลง ส่งผลให้ไตรมาส 2/66 มีรายได้จากการขายและให้บริการ 636 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 23%
นายอนันต์ กิตติวิทยากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไลท์ติ้ง แอนด์ อีควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ L&E เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะดีกว่าช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจุบันยังมีปริมาณงานขนาดใหญ่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีงานที่บริษัทฯ อยู่ระหว่างติดตามอีกกว่า 4,000-5,000 ล้านบาท อาทิ โครงการ Mixed-Use งานสนามบิน งานโรงพยาบาล และงานโรงงาน เป็นต้น ขณะที่ ปัจจุบันมีงานในมือ (Backlog) ราว 1,300 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้ต่อเนื่องในปีนี้
สำหรับการเติบโตของธุรกิจ Entertainment lighting บริษัทฯ ได้มีการอัปเกรดอุปกรณ์รองรับงาน Virtual Production มาตรฐานระดับ World Class โดยมีการลงทุนมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการลงทุนเพื่อรองรับการขยายตัวของ Entertainment Tech มองว่าปี 2566 ความต้องการสินค้า L&E virtual studio ที่ตอบโจทย์ยุค metaverse รวมถึงกลุ่ม IoT SMART POLES, Horticulture Lighting คาดการณ์จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปีนี้ ปัจจุบันได้ขยายการเติบโตรองรับโอกาสทางธุรกิจ โดยช่วงที่ผ่านมาได้เปิดตัวธุรกิจใหม่ภายใต้ชื่อ L&E Beyond เพื่อดำเนินธุรกิจจำหน่ายและให้บริการงานโปรดักชั่น (Production Solution Provider) แบบครบวงจร ให้บริการทั้งระบบแสง เสียง ภาพ และเทคโนโลยีล้ำสมัยกลุ่ม Entertainment Tech แก่ธุรกิจด้านบันเทิง อาทิ งานละคร งานถ่ายรายการโทรทัศน์ งานถ่ายทำ Music Video งานคอนเสิร์ต งานนิทรรศการแบบครบวงจร เสริมภาพลักษณ์ให้ L&E เป็นมากกว่าผู้นำธุรกิจ Lighting Solution
นอกจากนี้ ได้มีการศึกษาธุรกิจใหม่ๆ คือ Biological Lighting ตอนนี้มีการสร้างเรือนเพาะชำใหม่ขึ้นมาที่โรงงาน นพวงศ์ เรียกว่า Green House โดยใช้ระบบอัตโนมัติควบคุมด้วย IoT ทั้งหมด ตอกย้ำ เราเป็นมากกว่าแสงสว่าง L&E ไม่ได้ทำแค่แสงสว่างเพียงอย่างเดียว รวมทั้งยังมีผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เรียกว่า “เซอร์คาเดี้ยน Circadiun Lighting” หรือ “Human Centric Light” ซึ่งตอนนี้มีความต้องการมากขึ้นบริษัทฯ มีผลิตภัณฑ์พร้อมเสิร์ฟ คือการทำไฟที่เปลี่ยนสี ระบบไฟควบคุมด้วยระบบสมาร์ท สามารถเปลี่ยนอุณหภูมิสีในบ้าน อาคารพาณิชย์ ในพิพิธภัณฑ์ และในทางการแพทย์ ใช้ในการรักษาคนไข้ เพื่อสร้างบรรยากาศเสมือนว่าเป็นกลางวัน หรือกลางคืนได้ ตอบโจทย์ผู้บริโภคในเรื่องแสงสว่างได้มากกว่าเดิม
อย่างไรก็ดี การเติบโตของรายได้ปีนี้ เดิมบริษัทฯ คาดว่าจะเติบโต 10-15% อาจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากความล่าช้าการรับรู้รายได้ของงานโครงการ นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันด้านราคาที่สูงเนื่องจากมีวัตถุดิบที่นำเข้ามาจากประเทศจีนเป็นจำนวนมาก รวมทั้งผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ส่งผลให้ค่าขนส่งสินค้าปรับสูงขึ้น เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และเงินบาทอ่อนค่าลง ทำให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มสูงขึ้นขณะที่ราคาขายของงานโครงการส่วนใหญ่ไม่สามารถปรับขึ้นได้ เป็นผลให้อัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวลดลง โดยบริษัทฯ ได้ปรับลดเป้ารายได้ปีนี้เติบโตแบบทรงตัว
สำหรับผลประกอบการในงวดไตรมาส 2/66 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายและให้บริการ 636 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 190 ล้านบาท หรือลดลง 23% สาเหตุใหญ่เป็นผลจากรายได้จากการขายสินค้าในตลาดประเทศสหรัฐอเมริกาลดลง เนื่องจากการแข่งขันที่เข้มข้นและตลาดที่ชะลอตัวจากปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาการเงินที่ประเทศนี้กำลังประสบอยู่ ในขณะที่การหาตลาดทดแทนในต่างประเทศยังไม่เกิดผลเป็นรูปธรรม รวมทั้งในไตรมาส 2/66 ที่ผ่านมา บริษัทฯ มีงานโครงการในประเทศหลายงานต้องเลื่อนออกไปรับรู้รายได้ในไตรมาสถัดไป ส่งผลให้บริษัทฯขาดทุนสุทธิสำหรับงวด 17.9 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 10.3 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 28.2 ล้านบาท โดยกำไรขั้นต้นจากการขายรวมรายได้อื่นลดลง 11% จากยอดขายที่ปรับตัวลดลง แม้อัตรากำไรขั้นต้นได้ปรับตัวดีขึ้นจาก 24.3% ในปี 2565 เป็น 28% ในปี 2566 ทั้งนี้เพราะสินค้าที่ขายให้ลูกค้าปลายทางในสหรัฐอเมริกาที่ลดลงมีอัตรากำไรเบื้องต้นต่ำกว่าสินค้าที่ขายทั่วไป
ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารรวมดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้น 10.7 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5% สาเหตุใหญ่มาจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตลาดและส่งเสริมการขาย ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการพัฒนา Supply Chain เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้สามารถแข่งขันได้ดีในตลาดต่างประเทศและตลาดในประเทศ รวมถึงผลจากการปรับเงินเดือนประจำปี และดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นเพราะอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ปรับตัวสูงขึ้นจาก 2.79% ในปี 2565 เป็น 2.83% ในปี 2566 โดยมีเครดิตภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้น 4.5 ล้านบาท
“ผลงานไตรมาส 2/66 ยอดขายได้รับผลกระทบจากโควิดที่ยังไม่หมด งานโครงการใหญ่ๆ ชะลอการรับสินค้าออกไปนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ตอนต้นปี มีผลทำให้ต้องเลื่อนการรับรู้รายได้ออกไปในไตรมาถัดๆไป นอกจากนี้ยังมีต้นทุน ซึ่งมีแรงกดดันจากสินค้าประเทศจีน ที่ยังคงมีข้อพิพาทกับสหรัฐอเมริกา ทะลักเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งเรามองว่า สถานการณ์ได้ผ่านช่วงวิกฤติมาแล้ว และดีขึ้นเป็นลำดับ จึงมั่นใจครึ่งปีหลังเดินหน้าขยายตลาด และจะดีกว่าครึ่งปีแรก” นายอนันต์ กล่าว
#bidennews #หมาป่าแห่งวอลสตรีท