OTO ลั่นปี 66 เข้าสู่โหมดการเติบโตรอบใหม่ บอร์ดอนุมัติแผนขายหุ้น PSD รุกแตกไลน์ 2 ธุรกิจใหม่ Ev Bike – Carbon Credit
บอร์ด OTO ไฟเขียวอนุมัติแผนขายหุ้น PSD ในราคาไม่ต่ำกว่าทุน เพื่อนำเงินไปลงทุนในธุรกิจ EV Bike และ Carbon Credit ฟากผู้บริหาร “คณาวุฒิ วรรทนธีรัช” มั่นใจปี 66 เข้าสู่โหมด “การเติบโตรอบใหม่” ทั้งจากธุรกิจเดิม Call Center และ Contact Center ที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำจากฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้น หลังโขว์ผลงานปี 65 มีกำไรจากธุรกิจหลักกว่า 44.8 ล้านบาท จากในอดีตมีกำไรเฉลี่ยราว 20-30 ล้านบาท/ปี พร้อมรุกแตกไลน์ 2 ธุรกิจใหม่ Ev Bike และ Carbon Credit สร้าง New S Curve รับเมกะเทรนด์ คาดเริ่มเปิดฉากรับรู้รายได้ขาย Ev Bike ภายในครึ่งแรกปี 66
นายคณาวุฒิ วรรทนธีรัช ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วันทูวัน คอนแทคส์ จํากัด (มหาชน) (OTO) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติแผนขายหุ้น บริษัท ฟิจิตอล สเปซ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (PSD) ซึ่งประกอบธุรกิจเกมและอีสปอร์ต ผ่าน Platform HUBBER ที่ บริษัท อินโนฮับ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ OTO ถืออยู่ในสัดส่วนร้อยละ 49 ของหุ้นทั้งหมด โดยแผนการขายหุ้น PSD ในครั้งนี้อยู่ระหว่างการหาผู้ร่วมทุนรายใหม่ในราคาไม่ต่ำกว่าราคาทุน ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ มีกระแสเงินสดรับจากการขายหุ้น และมีเงินลงทุนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการขยาย 2 ธุรกิจใหม่ Ev Bike และ Carbon Credit เพื่อสร้าง New S Curve ให้กับธุรกิจ ผลักดันให้ผลการดำเนินงานในปี 66 พลิกกลับมามีกำไร
“การตัดสินใจขายเงินลงทุนในธุรกิจเกมในครั้งนี้ ถือเป็นการรองรับแผนการแตกไลน์ 2 ธุรกิจใหม่ เพื่อสร้าง New S Curve ให้กับบริษัทฯ สอดรับเมกะเทรนด์ ซึ่งในส่วนของธุรกิจ EV Bike คาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้ภายในครึ่งปีแรกของปี 66 เป็นต้นไป ส่วนธุรกิจใหม่ Carbon Credit ที่บริษัทฯ เตรียมเข้าลงทุน คาดว่าจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันรายได้ในช่วงครึ่งปีหลังเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ”
สำหรับธุรกิจหลักของบริษัทฯ ในส่วนของ Call Center และ Contact Center ในปี 2565 ฟื้นตัวได้อย่างโดดเด่น อีกทั้งมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการให้บริการสื่อสารการตลาดบนแพลตฟอร์มเกมส์ออนไลน์ และการแข่งขันกีฬาอีสปอรต ของบริษัทย่อยที่ได้มีการลงทุนในช่วงต้นปี 2565 ส่งผลให้บริษัทฯ มีรายได้จากการดำเนินงาน 620.5 ล้านบาท (ไม่รวมรายได้อื่นๆ) เพิ่มขึ้น 23 ล้านบาท หรือ 3.9% เทียบกับปี 2564 และมีกำไรจากการดำเนินงานจำนวน 44.8 ล้านบาท แต่เนื่องจากขาดทุนจากเงินลงทุนในตราสารทุนของบริษัทจดทะเบียน จำนวน 139.7 ล้านบาท และมีการตั้งสำรองเผื่อสำหรับสินทรัพย์รวม 20.8 ล้านบาท ทำให้ภาพรวมผลประกอบการปี 2565 ขาดทุนสุทธิ 116.2 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในปี 2565 ถือว่าเป็นปีทองสำหรับธุรกิจหลักของ OTO ในส่วนของ Call Center และ Contact Center หากไม่นับการขาดทุนจากพอร์ตลงทุน เนื่องจากธุรกิจหลักมีกำไรสุทธิสูงถึง 44.8 ล้านบาท เทียบกับในอดีตกำไรสุทธิเฉลี่ยประมาณ 20-30 ล้านบาท/ปี และแนวโน้มในปี 2566 คาดว่าจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยจะเห็นภาพที่ชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 1/65
“แนวโน้มธุรกิจในปีนี้คาดว่าจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญและเข้าสู่โหมดการเติบโตใหม่ ตามแผนงานที่วางไว้ หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ทำให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เริ่มกลับมาใช้บริการ Call Center และ Contact Center โดยบริษัทฯ มีความพร้อมเข้าประมูลงานใหม่อย่างต่อเนื่อง ในฐานะผู้นำตลาด ซึ่งทำให้มีโอกาสในการคว้างานใหม่เพิ่มเติม และจากการแตกไลน์ 2 ธุรกิจใหม่ที่จะเข้ามาพลิกโฉมรายได้และกำไร ของบริษัทฯ ซึ่งจะเห็นภาพชัดเจนขึ้นหลังจากนี้” นายคณาวุฒิกล่าวในที่สุด
#bidennews #หมาป่าแห่งวอลสตรีท