PRINC ประเมิน Q4/65 ฟื้นตัวชัดเจนหลังผู้ป่วยใหม่พุ่งต่อเนื่อง พร้อมเผยผลงานงวด 9 เดือน ปี 65 ทำนิวไฮ
นายธานี มณีนุตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บมจ.พริ้นซิเพิล แคปิตอล หรือ PRINC ผู้ดำเนินธุรกิจบริหารจัดการโรงพยาบาลเอกชนและธุรกิจสุขภาพในนามเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 ว่าบริษัทมีรายได้รวม 1,496.3 ล้านบาท เมื่อเทียบไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมาลดลง 181.3 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.8 ผลจากผู้ป่วยโควิด-19 ลดลง แม้คนไข้ที่รับบริการปกติเพิ่มสูงขึ้นมากแต่ยังไม่สามารถชดเชยรายได้ที่ลดลงของโควิด-19 ได้ ขณะที่ไตรมาสที่ 3 ปี 2565 นี้ ขาดทุน 89.8 ล้านบาท ผลจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 หากไม่นับรวมไตรมาสนี้ยังคงมีกำไร ส่วนไตรมาสถัดไป ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะลดลงมาก
“ทั้งนี้หากดูภาพรวมผลการดำเนินงาน 9 เดือนปี 2565 ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ รายได้รวมอยู่ที่ 5,332.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 60.5 โดยมีกำไรที่ 532.3 ล้านบาท พลิกจากงวดเดียวกันในปีก่อนหน้า ที่มีผลขาดทุน 53.3 ล้านบาท ส่วนภาพรวมธุรกิจสถานพยาบาลขนาดย่อม เช่น คลินิกเวชกรรมใกล้บ้านใกล้ใจ ซึ่งเป็นคลินิกปฐมภูมิในเครือข่าย สปสช. และคลินิกเสริมความงาม ผิวดีคลินิก ที่บริษัทเข้าลงทุนและรับรู้รายได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ผ่านมา รวมทั้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ล้วนเติบโตขึ้นทุกกลุ่มธุรกิจในไตรมาสที่ 3 นี้ พร้อมประเมินไตรมาสที่ 4 แนวโน้มเติบโตต่อเนื่องตามจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล ผลจากการขยายศูนย์การแพทย์และคลินิกเฉพาะทาง รวมทั้งการให้บริการผู้ป่วยชาวต่างชาติที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น”
นายธานี มณีนุตร์ ยังกล่าวต่อว่าแนวโน้มของความต้องการรักษาโรคที่ไม่เกี่ยวกับโควิด-19 มีการปรับตัวดีขึ้นทุกแห่งทั้ง 12 แห่งใน 10 จังหวัด โดยในปี 2566 คาดว่าสถานการณ์การเดินทางระหว่างประเทศจะเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้กลุ่มผู้รับบริการชาวต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มสูงขึ้นอีก จึงจัดตั้ง International Office ที่โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุบลราชธานี และโรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ เพื่ออำนวยความสะดวกและรุกทำตลาดสื่อสารกลุ่มผู้รับบริการจากประเทศเพื่อนบ้าน โชว์ศักยภาพ การเป็นเครือข่ายโรงพยาบาลที่ให้บริการครอบคลุมในพื้นที่ภาคอีสาน โดยต้นปี 2566 เตรียมเปิดให้บริการ รพ.พริ้นซ์ สกลนคร จ.สกลนคร นับเป็นโรงพยาบาลแห่งที่ 13 ของเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ และยังคงเป้าหมายในการขยายโรงพยาบาลเป็น 20 แห่ง ภายในปี 2567 ทั้งในรูปแบบของการสร้างโรงพยาบาลใหม่และเข้าไปร่วมกิจการกับทางโรงพยาบาลในท้องถิ่น และยังคงมุ่งเน้นขยายบริการสาธารณสุขไปยังจังหวัดเมืองรอง ตามปณิธานของการดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลที่มุ่งสร้างคนให้มีจิตใจของความเป็นผู้ให้ และร่วมดูแลคน ชุมชนและสิ่งแวดล้อมให้เติบโตอย่างยังยืน
พร้อมกันนี้ทุกโรงพยาบาลในเครือเร่งพัฒนาคุณภาพการให้บริการ เพิ่มแพทย์เฉพาะทาง และลงทุนขยายศูนย์การแพทย์หรือคลินิกเฉพาะทางในโรงพยาบาลในเครือทุกแห่ง รองรับความต้องการรักษาพยาบาลในแต่ละพื้นที่ ผ่านการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาการส่งต่อผู้ป่วยและการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน โดยเฉพาะการนำร่องใช้ 5G Ambulance ในโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ, การเปิดศูนย์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากรจำนวนมาก, การเพิ่มศักยภาพห้อง ICU ในโรงพยาบาลพริ้นซ์ อุบลราชธานี การพัฒนาด้านห้องปฏิบัติการ (Lab) การเปิดบริการ Lab IUI และการให้บริการ IUI (Intra-Uterine Insemination) รักษาภาวะการมีบุตรยากที่โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุทัยธานี, การพัฒนาด้านห้องปฏิบัติการเพื่อการทำเคมีบำบัดของโรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ การพัฒนาศักยภาพในการผ่าตัด และการรักษาโรคซับซ้อนด้านสมอง กระดูก มะเร็ง หัวใจ (Heart, Brain, Bone, Cancer) การเพิ่มการให้บริการรักษาโรคด้านหัวใจ การแพทย์ด้านสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ (Electrophysiology Study) ในโรงพยาบาลพิษณุเวช และการเปิดคลินิกเต้านม (Breast Clinic) ที่โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ และการแพทย์มะเร็งนรีเวช โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเรื่องการผ่าตัดแผลเล็ก การเปลี่ยนข้อเข่าข้อสะโพก และผ่าตัดต้อกระจกในกลุ่มผู้สูงอายุ ในโรงพยาบาลหลายแห่ง
#bidennews #หมาป่าแห่งวอลสตรีท