Daily NewsRecent Posts

ตลท. รับหุ้น TLI เริ่มซื้อขาย 25 ก.ค. นี้ ด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 183,200 ลบ.

นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยินดีต้อนรับ บมจ. ไทยประกันชีวิต เข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในกลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจการเงิน หมวดประกันภัยและประกันชีวิต โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า “TLI” ในวันที่  25 กรกฎาคม 2565

TLI เป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งแรกของคนไทย ดำเนินธุรกิจภายใต้ชื่อ “ไทยประกันชีวิต” ซึ่งเป็นที่รู้จักมายาวนานกว่า 80 ปี มีส่วนแบ่งทางการตลาด (พิจารณาตามเบี้ยประกันภัยรับรวม) สูงเป็น 3 ลำดับแรกของประเทศ 12 ปีติดต่อกันจนถึงปัจจุบัน ด้วยผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย การให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศจากเครือข่ายตัวแทนประกันชีวิต กว่า 64,000 คน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำที่มีการจำหน่ายผ่านตัวแทนประกันชีวิตของประเทศ มีช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านสถาบันการเงิน องค์กรพันธมิตรชั้นนำและอื่นๆ ที่เข้าถึงทุกกลุ่มลูกค้า ตลอดจนได้รับการสนับสนุนทางธุรกิจจาก Meiji Yasuda Life Insurance Company (MY) ผู้ถือหุ้นเชิงกลยุทธ์ (Strategic Shareholder) ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทประกันชีวิตรายใหญ่ในประเทศญี่ปุ่นด้วย

TLI มีทุนชำระแล้ว 11,450 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท โดยเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนรวม 2,316.70 ล้านหุ้น ประกอบด้วยหุ้นสามัญเพิ่มทุน 850 ล้านหุ้น หุ้นสามัญเดิมของบริษัท วี.ซี. สมบัติ จำกัด 1,166.58 ล้านหุ้น และ Her Sing (H.K.) Limited 138.49 ล้านหุ้น และจัดสรรหุ้นส่วนหุ้นเกิน 161.63 ล้านหุ้น โดยเสนอขายต่อบุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ บุคคลที่มีความสัมพันธ์ของบริษัทฯ และพนักงานบริษัทฯ ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน – 6 กรกฎาคม 2565 และผู้ลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 11-12 และ  14 กรกฎาคม 2565 ในราคาหุ้นละ 16 บาท คิดเป็นมูลค่าเสนอขาย 37,067.18 ล้านบาท (รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) และมูลค่าระดมทุน 13,600 ล้านบาท โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 183,200 ล้านบาท มีบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญ และมีบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด เป็นผู้จัดการ การจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญ

นายไชย ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ไทยประกันชีวิต (TLI) เปิดเผยว่า การนำบริษัทฯ   เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะช่วยเสริมศักยภาพในการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยบริษัทฯ มีแผนจะนำเงินจากการระดมทุนในครั้งนี้ไปลงทุนด้านเทคโนโลยี (Digital Transformation) เพื่อผลักดันบริษัทสู่การเป็น Data Driven Company รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพของช่องทางการขายผ่านพันธมิตรที่มีความแข็งแกร่งอยู่แล้วในปัจจุบันให้ครอบคลุมความต้องการของลูกค้ามากยิ่งขึ้น พร้อมเสริมสร้างเงินกองทุนให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อรักษาความเป็น

ผู้นำในธุรกิจประกันชีวิตของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตอบโจทย์การเป็นบริษัทประกันชีวิต  แห่งความยั่งยืนที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนให้กับนักลงทุน และพร้อมดูแลเคียงข้างคนไทย

TLI มีผู้ถือหุ้น 3 ลำดับแรกหลัง IPO ได้แก่ 1) กลุ่มวี.ซี.สมบัติ ถือหุ้น 50.79% 2) Meiji Yasuda Life Insurance Company ถือหุ้น 15.00% 3) Her Sing (H.K.) Limited ถือหุ้น 6.19% บริษัทฯ ผู้ถือหุ้นเดิม ร่วมกับผู้จัดการ การจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายและผู้ซื้อหุ้นเบื้องต้นในต่างประเทศ (Initial Purchasers) กำหนดราคา  เสนอขายหุ้น IPO จากการพิจารณาหลายปัจจัย หากพิจารณามูลค่าพื้นฐานของกิจการ (Embedded Value) (เป็นการคำนวณทางคณิตศาสตร์ประกันภัยเพื่อที่จะหามูลค่าผลประโยชน์ที่มีต่อผู้ถือหุ้นจากกรมธรรม์ที่ยังมีผลบังคับของบริษัทประกันชีวิต) ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2564 เท่ากับ 142,277 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมด 10,600 ล้านหุ้น  จะได้มูลค่าพื้นฐานของกิจการต่อหุ้น 13.42 บาทต่อหุ้น และคิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อมูลค่าพื้นฐานของกิจการ (Price to Embedded Value Ratio : P/EV) ประมาณ 1.19 เท่า และคิดเป็นอัตราส่วนราคาหุ้นต่อมูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น (Price to Book Value Ratio : P/BV) ประมาณ 2.13 เท่า โดยพิจารณาจากส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ณ วันที่ 31 มี.ค. 2565   ที่จะได้มูลค่าตามบัญชีสุทธิต่อหุ้น เท่ากับ 7.50 บาทต่อหุ้น สำหรับธุรกิจประกันชีวิต การประเมินมูลค่าของบริษัทด้วยอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Earnings Ratio : P/E) จะไม่สะท้อนถึงมูลค่ายุติธรรมของบริษัทฯ เนื่องจากไม่สะท้อนถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจจากกระแสเงินสดที่บริษัทฯ จะได้รับจากกรมธรรม์ที่ให้ความคุ้มครองเป็นระยะเวลามากกว่า 1 ปี ทั้งนี้ TLI มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิตาม งบการเงินเฉพาะกิจการ หลังจากการหักภาษีและจัดสรรทุนสำรองต่างๆ ทุกประเภทตามที่กฎหมายกำหนด

#bidennews #หมาป่าแห่งวอลสตรีท

Related Articles

Back to top button