UAC กวาดรายได้ 6 เดือนแรก 864.24 ลบ. ครึ่งปีหลังเดินหน้าลุยลงทุนแหล่งผลิตปิโตรเลียม-EV charging station
นายชัชพล ประสพโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ “UAC” แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถึงผลประกอบการงวด 6 เดือนแรกปี 2565 (สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2565) ว่า บริษัทฯ มีรายได้จากการขายและบริการ 864.24 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 154.46 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 21.76% (YoY) และมีกำไรส่วนที่เป็นของบริษัท 89.86 ล้านบาท โดยมี Gross Margin 12.38% ส่งผลให้ EBITDA งวด 6 เดือนแรกปี 2565 อยู่ที่ 168.14 ล้านบาท ส่วนด้าน ROE อยู่ที่ 11.09%
ส่วนไตรมาส 2/2565 มีรายได้จากการขายและบริการ 354.14 ล้านบาท ลดลง 20.78 ล้านบาท หรือ 5.54 % (YoY) และมีกำไรส่วนที่เป็นของบริษัท 17.98 ล้านบาท โดยมี Gross Margin 13.93% ส่งผลให้ EBITDA ณ สิ้นไตรมาส 2/2565 อยู่ที่ 57.83 ล้านบาท
โดยในครึ่งปีแรก 2565 บริษัทฯ พยายามมุ่งเน้นในการรักษาสภาพคล่องและขยายธุรกิจด้วยความระมัดระวัง พร้อมทั้งควบคุมต้นทุนการผลิต และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพื่อรักษาการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จากกลุ่มธุรกิจ Trading ซึ่งมีรายได้รวมทั้งสิ้น 541.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 71.76 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 15.29% ซึ่งบริษัทคาดว่าไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ยอดขายจะได้ตามประมาณการที่วางไว้
ส่วนกลุ่มธุรกิจ Manufacturing – Energy มีรายได้รวมทั้งสิ้น 104.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.38 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 60.10% (YoY) ส่วนใหญ่เกิดจากโรงงาน PPP ได้รับ Associated Gas ตามแผนที่วางไว้ และกลุ่มธุรกิจ Manufacturing – Chemicals มีรายได้รวมทั้งสิ้น 218.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.31 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 24.76% (YoY) ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายเล็กน้อย
นอกจากนี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ “UAC” ยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงภาพรวมธุรกิจในครึ่งปีหลัง 2565 ว่า บริษัทฯ พร้อมเดินหน้าลงทุนในธุรกิจด้านพลังงานสะอาดและพลังงานทดแทน ควบคู่ไปกับการเร่งขยายการตลาดในส่วนของธุรกิจเทรดดิ้ง ไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ มากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของรายได้ในปีนี้ แตะระดับ 2,000 ล้านบาท รวมถึงการรักษา EBITDA มากกว่า 420 ล้านบาท
ด้านโครงการลงทุนในแหล่งผลิตปิโตรเลียมหมายเลข L10/43 และ L11/43 ในพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมอรุโณทัยและบูรพา จังหวัดสุโขทัย ปัจจุบันได้เข้าสำรวจปริมาณปิโตรเลียมสำรองในพื้นที่สัมปทานดังกล่าว เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ภายในไตรมาส 3/2565 ซึ่งตั้งเป้าผลิต 300 บาร์เรลต่อวัน สร้างรายได้เพิ่ม 250 ล้านบาทต่อปี ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนภูผาม่าน ที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีขนาดการผลิตไฟฟ้า 3 เมกะวัตต์ นั้น กำลังรอ กฟภ. ลงนามในสัญญา PPA
ด้านความคืบหน้าการเปิดให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV charging station) ภายใต้ “พีพีดับบลิวอี” (PPWE) ซึ่งร่วมลงทุนกับ บมจ.คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ (QTC) คาดว่าในไตรมาส 3/2565 บริษัทฯจะเริ่มทยอยเปิดสถานีให้บริการได้ 2 สถานีแรกที่จังหวัดนครราชสีมา(โคราช) ทั้งขาเข้า และขาออก และทยอยเปิดดำเนินการอีก 2 สถานี ภายในต้นไตรมาส 4/2565 ส่งผลให้ภายในปีนี้ จะมี EV Charging Station จำนวน 4 สถานี 12 หัวจ่ายตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
#bidennews #หมาป่าแห่งวอลสตรีท